วันศุกร์ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2557 เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เวลา 16:30 น. โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) อันมีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้าคณะ โค่นรัฐบาลรักษาการนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล นับเป็นรัฐประหารครั้งที่ 13 ในประวัติศาสตร์ไทย ก่อนหน้านี้ เกิดรัฐประหารใน พ.ศ. 2549 รัฐประหารดังกล่าวเกิดขึ้นหลังวิกฤตการณ์การเมืองซึ่งเริ่มเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2556 เพื่อคัดค้านร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯ และอิทธิพลของพันตำรวจโท ดร.ทักษิณ ชินวัตร ในการเมืองไทยในวันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักรตั้งแต่เวลา 3.00 น. กองทัพบกตั้งกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (กอ.รส.) และให้ยกเลิกศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) กอ.รส. ปิดสื่อ ตรวจพิจารณาเนื้อหาบนอินเทอร์เน็ต และจัดประชุมเพื่อหาทางออกวิกฤตการณ์การเมืองของประเทศ แต่การประชุมไม่เป็นผล จึงเป็นข้ออ้างรัฐประหารครั้งนี้
หลังรัฐประหาร มีประกาศให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 สิ้นสุดลงยกเว้นหมวด 2 คณะรัฐมนตรีรักษาการหมดอำนาจ ตลอดจนให้ยุบวุฒิสภา ปัจจุบัน คณะรักษาความสงบแห่งชาติเป็นผู้ใช้อำนาจนิติบัญญัติ และพลเอก ประยุทธ์เป็นผู้ใช้อำนาจของนายกรัฐมนตรี คสช. มีการจัดส่วนงานต่าง ๆ เพื่อบริหารราชการแผ่นดิน และระบุว่าจะปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง ไม่มีคำมั่นว่าประเทศจะหวนกลับสู่การปกครองโดยพลเรือนโดยเร็ว
หลายประเทศประณามรัฐประหารครั้งนี้ รวมทั้งมีการกดดันต่าง ๆ เช่น ลดกิจกรรมทางทหารและลดความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แต่คนไทยจำนวนหนึ่งแสดงความยินดี โดยมองว่าเป็นทางออกของวิกฤตการณ์การเมือง แต่ก็มีคนไทยอีกจำนวนหนึ่งที่ไม่เห็นด้วย เนื่องจากไม่เป็นไปตามวิถีประชาธิปไตย
ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2554 ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรและพรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้ง และตั้งรัฐบาลใหม่โดยมียิ่งลักษณ์เป็นนายกรัฐมนตรี มีการประท้วงต่อต้านรัฐบาล นำโดย สุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ เริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2556 ภายหลัง สุเทพตั้งคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อตั้ง "สภาประชาชน" ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งเพื่อดูแลการปฏิรูปการเมือง กลุ่มนิยมรัฐบาล รวมทั้ง แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) จัดชุมนุมเช่นกัน มีความรุนแรงเกิดขึ้นเป็นครั้งคราว เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก
ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2556 ยิ่งลักษณ์ยุบสภาผู้แทนราษฎรและกำหนดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไปในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557 การเลือกตั้งไม่เสร็จสมบูรณ์ในวันนั้นเพราะถูกผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาลขัดขวาง ศาลรัฐธรรมนูญเพิกถอนการเลือกตั้งในวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2557 ในวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยเป็นเอกฉันท์ให้ยิ่งลักษณ์และรัฐมนตรีที่มีมติย้ายข้าราชการระดับสูงซึ่งเป็นที่โต้เถียงใน พ.ศ. 2554 รัฐมนตรีที่เหลืออยู่เลือกนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ รักษาการนายกรัฐมนตรีแทนยิ่งลักษณ์ แต่การประท้วงยังดำเนินต่อ
สุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. เปิดเผยว่า ตนพูดคุยกับพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาให้ถอนรากถอนโคนอิทธิพลของทักษิณและพันธมิตรนับแต่การชุมนุมทางการเมืองใน พ.ศ. 2553 เขากล่าวว่า ได้ติดต่อเป็นประจำผ่านแอพไลน์ ก่อนรัฐประหาร พลเอกประยุทธ์ติดต่อเขาว่า "คุณสุเทพ คุณกับมวลมหาประชาชน กปปส.เหนื่อยเกินไปแล้ว ต่อไป ขอเป็นหน้าที่กองทัพบกที่จะทำภารกิจนี้แทน" และกองทัพได้รับข้อเสนอของ กปปส. หลายอย่าง เช่น มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ด้านโฆษก คสช. ออกมาปฏิเสธข่าวดังกล่าว แหล่งข่าวว่า พลเอกประยุทธ์ "อารมณ์เสียมาก"

20 พฤษภาคม

  • 08:25 น. - กอ.รส.ออกคำสั่งฉบับที่ 1 ให้สื่อวิทยุและโทรทัศน์ทั้งหมด รับสัญญาณถ่ายทอดแถลงการณ์จากกองทัพบกทุกครั้งที่ได้รับการประสาน
  • 09:48 น. - กอ.รส. ออกคำสั่งฉบับที่ 3 ห้ามสื่อข่าวที่กระทบต่อการรักษาความสงบ
  • 10:36 น. กอ.รส. ออกคำสั่งฉบับที่ 6 สั่งให้โทรทัศน์ผ่านดาวเทียมระงับการออกอากาศจำนวน 10 ช่อง รวมถึงวิทยุชุมชนที่ไม่ได้รับอนุญาต
  • 11:06 น. กอ.รส. ออกคำสั่งฉบับที่ 5 แต่งตั้งคณะที่ปรึกษา กอ.รส.
  • 12:40 น. กอ.รส. ออกคำสั่งฉบับที่ 4 เชิญบุคคลสำคัญร่วมประชุมแก้ปัญหาความไม่สงบ
  • 14:00 น. กอ.รส. เริ่มประชุมตามคำสั่งฉบับที่ 4 ที่สโมสรทหารบก สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ปฏิเสธไม่เข้าร่วมประชุม
  • 19:34 น. กอ.รส. ออกคำสั่งฉบับที่ 8 ขอความร่วมมือสื่อสังคมออนไลน์ ระงับส่งข้อความปลุกระดม สร้างความรุนแรง ไม่เคารพกฎหมาย
  • 19:45 น. กอ.รส. ออกคำสั่งฉบับที่ 7 สั่งให้โทรทัศน์ดาวเทียมระงับการออกอากาศเพิ่มเติมอีก 4 ช่อง
  • 20:09 น. กอ.รส. ออกคำสั่งฉบับที่ 9 สั่งห้ามสื่อทุกแขนง เชิญผู้ไม่มีตำแหน่งราชการ แสดงความเห็นก่อความขัดแย้ง พร้อมสั่งให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล และ ผู้บัญชาการตำรวจภูธรจังหวัด เข้าระงับการชุมนุมต่อต้าน การปฏิบัติงานของ กอ.รส.
  • 20:49 น. กอ.รส. ออกคำสั่งฉบับที่ 10 สั่งห้ามข้าราชการ-เจ้าหน้าที่พลเรือน-ประชาชน พกพา-ใช้อาวุธสงครามและวัตถุระเบิด เว้นทหารตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่ดูแลความสงบเรียบร้อยตามคำสั่ง
  • 21:04 น. พันเอกวินธัย สุวารี รองโฆษกกองทัพบก ในฐานะ โฆษก กอ.รส. ชี้แจงขั้นตอนการประกาศกฎอัยการศึกว่าเป็นไปตามกฎหมายทุกประการ ผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย และ กอ.รส. ออกคำสั่งฉบับที่ 12 ให้ตำรวจ, เจ้าหน้าที่พลเรือน, หน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจ ปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ
  • เมื่อต้นศตวรรษที่ ๒๐ นักปราชญ์แห่งออสเตรียอย่าง Georg Jellinek เป็นผู้หยิบยกปัญหาข้อโต้แย้งระหว่างความชอบธรรมตามข้อเท็จจริงกับความชอบธรรมทางกฎหมายขึ้นในการตอบปัญหาว่า “ถ้ากฎหมายไม่อาจบังคับได้ในทางข้อเท็จจริง กฎหมายจะยังมีผลเป็นกฎหมายต่อไปอีกหรือไม่?หรือถ้ามีการปฏิบัติตามเกณฑ์อย่างใดอย่างหนึ่งตามข้อเท็จจริง ทั้งๆที่ขัดต่อกฎหมายเกณฑ์ตามข้อเท็จจริงจะกลายเป็นกฎหมายไปหรือไม่?” แล้วเขาก็ตอบว่ากรณีดังกล่าวเป็นเรื่อง “อำนาจบังคับทางกฎหมายของข้อเท็จจริง” หรือ “Constitutive Force of the Factual” หรือกฎหมายไม่อาจฝืนข้อเท็จจริงได้นั่นเอง
    ตามความเห็นนี้ ถึงที่สุดแล้วระบบกฎหมายก็จำต้องยอมรับอำนาจบังคับของความสัมพันธ์เชิงเหตุผลที่ดำรงอยู่ในทางข้อเท็จจริงในขณะใดขณะหนึ่งเป็นสำคัญทั้งนี้เพราะในบางสถานการณ์ ความแน่นอน หรือความสงบที่ดำรงอยู่ในปัจจุบันเป็นสิ่งมีค่ายิ่งกว่า หรือเป็นความถูกต้องยิ่งกว่าความไม่แน่นอนหรือความไม่สงบที่จะเกิดขึ้นอย่างไม่รู้จบสิ้นหากยอมรับการโต้แย้งที่หาข้อยุติได้ยาก เพียงเพื่อความถูกต้องที่อาจมีมาหรืออาจไม่มีมาในอนาคต
    เหตุที่เรายอมรับหลักเรื่อง“การขาดอายุความทางอาญา” ในระบบกฎหมาย เพราะเมื่อกฎหมายไม่อาจบังคับได้เป็นระยะเวลานานๆ ก็ทำให้การบังคับใช้กฎหมายขาดความชอบธรรมไปในทางข้อเท็จจริง แม้ความผิดที่เกิดขึ้นไม่มีทางจะกลายเป็นความไม่ผิดได้เลยแต่ระบบกฎหมายจำต้องยอมรับว่าเมื่อระยะเวลาหนึ่งผ่านไปนานพอสมควรแล้ว ก็ไม่ควรเอาผิดผู้ถูกกล่าวหาว่าได้กระทำผิดอีกต่อไปอีกประการหนึ่งก็เพื่อรักษาความแน่นอนในทางเป็นคุณแก่ผู้ต้องหา เพื่อป้องกันการปรักปรำของรัฐในยุคที่รัฐมีอำนาจมากและอ้างหลักฐานปรักปรำหลังจากการกระทำที่ถูกกล่าวหาผ่านไปนาน ๆ จนผู้ถูกกล่าวหาซึ่งมักเป็นคนเล็กคนน้อยมีโอกาสหาหลักฐานย้อนหลังมาต่อสู้รัฐได้ยาก
    หลักในเรื่องการคุ้มครอง “การครอบครอง” ในทางแพ่งก็เช่นเดียวกันกฎหมายจะคุ้มครองผู้ครอบครองทรัพย์อยู่เป็นหลักแม้ว่าการครอบครองนั้นจะได้มาโดยมิชอบ เช่นแย่งหรือลักเขามา หากยังยื้อแย่งกันอยู่เจ้าทรัพย์มีสิทธิใช้กำลังป้องกันทรัพย์ของตน แต่หากแย่งหรือลักมาสำเร็จแล้วผู้แย่งหรือผู้ลักก็มีสิทธิครอบครอง และตราบใดที่เขาครอบครองอยู่ผู้อื่นรวมทั้งเจ้าทรัพย์เดิมไม่มีสิทธิยื้อแย่งเอาด้วยกำลังอีกต่อไปจะเรียกคืนทรัพย์ได้ก็ต้องไปเรียกร้องให้อำนาจสาธารณะตั้งคนกลางมาชี้ขาดว่าทรัพย์นั้นเป็นของใครหรือใครมีสิทธิดีกว่ากัน
    ทั้งหมดนี้ระบบกฎหมายสรุปประสบการณ์จากพัฒนาการนับพันปีว่าข้อเท็จจริงที่ไม่เป็นธรรมในบางเรื่องเป็นสิ่งที่เราต้อง “จำยอม”ให้ดำรงอยู่เพื่อคุ้มครองความสงบ หรือป้องกันการสูญเสียที่ไม่คุ้มกัน
    เรื่องรัฐประหารก็เช่นเดียวกันไม่มีนักกฎหมายคนไหนที่จะบอกว่าการรัฐประหารเป็นสิ่งที่ถูกต้อง และทุกคนต่างก็รู้และยอมรับโดยไม่ต้องสาธยายให้มากความว่า รัฐประหารนั้นเป็นสิ่งที่ควรต่อต้านแต่การต่อต้านนั้นไม่ใช่เรื่องที่ชี้ขาดกันด้วยกฎหมายเพราะทั้งการยึดอำนาจและการต่อต้านการยึดอำนาจล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องข้อเท็จจริงซึ่งอาศัยการชี้ขาดกันด้วยอำนาจการเมือง
    ถ้าต่อต้านสำเร็จอำนาจการเมืองก่อนการรัฐประหารก็ตั้งอยู่ได้ การรัฐประหารก็จะกลายเป็นกบฏและในทางกลับกันถ้าต่อต้านไม่สำเร็จผู้ต่อต้านก็จะถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ก่อความไม่สงบเสียเอง โดยนัยนี้ การต่อต้านที่จะเกิดผลก็ต้องต่อต้านเสียตั้งแต่ยังรัฐประหารไม่สำเร็จเด็ดขาดเช่นเดียวกับการใช้อำนาจป้องกันการกระทำผิด หากผู้กระทำทำผิดสำเร็จแล้วอำนาจป้องกันก็ระงับไปด้วย เหลือแต่เพียงสิทธิที่จะเรียกร้องให้อำนาจสาธารณะจับตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษเท่านั้น
    แต่ในกรณีที่เขาทำรัฐประหารสำเร็จก็แปลว่าฝ่ายรัฐประหารได้ยึดอำนาจสาธารณะไว้ในมือ และย่อมจะไม่มีอำนาจสาธารณะใดมาบังคับการตามข้อเรียกร้องนี้เข้าทำนองเป็นกฎหมายที่บังคับไม่ได้ทางข้อเท็จจริง อันจะนำไปสู่การที่สังคมจำต้องยอมรับอำนาจบังคับตามข้อเท็จจริงในที่สุดนั่นเอง
    ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะระบบกฎหมายทุกระบบยอมรับว่าหากยอมให้ใช้อำนาจป้องกันอยู่ร่ำไป ในที่สุดก็จะมีคนอ้างอำนาจป้องกันโดยเกินกว่าเหตุใช้กำลังกันไม่มีที่สิ้นสุด สังคมก็จะอยู่ในสภาวะที่โทมัส ฮอบบส์กล่าวไว้ว่า“ทุกคนต่างต้องระแวดระวัง เกลียด และกลัวกันเอง” “ต่างตกอยู่ในสภาพที่ต้องอยู่ในภาวะที่ต่างทำสงครามระหว่างกันเองตลอดเวลา”อันเป็นภาวะที่เราพยายามหลีกเลี่ยงและจัดตั้งกันเป็นรัฐ เพื่อให้เกิดความสงบ เกิดกฏเกณฑ์ร่วมกันและเพื่อให้เสรีภาพเป็นไปได้นั่นเอง
    ด้วยเหตุนี้ การต่อต้านการรัฐประหารที่สำเร็จไปแล้วจึงต้องหลีกเลี่ยงโอกาสที่จะนำไปสู่การปะทะกันด้วยกำลังหรือต้องพยายามจำกัดผลไม่ให้เกิดรุนแรงกันขึ้นโดยไม่จำเป็น สำหรับบางคนนั้นสันติภาพอาจสำคัญมากกว่าการเข้าสู่อำนาจลองคิดดูสิว่า ถ้าอองซาน ซูจี เรียกร้องให้ชาวพม่าทุกคนต่อต้านรัฐบาลพม่าเพราะรัฐธรรมนูญที่ใช้อยู่เป็นรัฐธรรมนูญของทหารโดยไม่คำนึงถึงว่าจะเกิดการปะทะกันด้วยกำลัง ดังนี้โอกาสที่ประชาชนจะมีอำนาจแท้จริงในอนาคตจะมากขึ้นหรือจะน้อยลง?
    แต่นั่นก็ไม่สำคัญเท่ากับว่า หากการต่อต้านรัฐประหารหรือการต่อต้านรัฐบาลที่มาจากรัฐประหารนั้นไม่ประสบผลสำเร็จและถูกปราบปรามด้วยกำลัง ใครจะรับผิดชอบต่อชีวิตของคนที่ศรัทธาเชื่อมั่นในสิ่งเขาเชื่อว่าถูกต้องและยอมอุทิศชีวิตเพื่อต่อสู้กับสิ่งนั้น? เขาเหล่านั้นต้องจากเราไปเพียงแค่เขาไม่รู้หรือรู้แต่ก็รับไม่ได้ว่า หากเลือกใช้วิธีอีกอย่างอาจต้องทนรอไปอีก และอาจต้องทนเหนื่อยยากจัดตั้งกันอย่างจริงจัง จนกว่าอำนาจตามข้อเท็จจริงจะเป็นของประชาชนและสิ่งที่ถูกต้องก็จะมาถึงได้ในวันหนึ่งข้างหน้าอย่างแน่นอน
    อันที่จริง ประวัติศาสตร์ก็สอนให้เรารู้อยู่เสมอมิใช่หรือว่าเมื่อถึงเวลาต้องเอาชีวิตเข้าแลกนั้น โดยมากก็จะมีแต่คนเล็กคนน้อยในสังคมเท่านั้นที่ยอมตายเพื่อรักษาสิ่งที่เขาเชื่อว่าถูกต้อง และแม้เขาจะได้มีชื่อเป็นวีรชนที่มีผู้ยกย่องอยู่เสมอ ก็มักเป็นไปอย่างนามธรรมเท่านั้น ในแง่นี้ผมเห็นว่า หากคณะนิติราษฎร์จะเสนอให้สร้างอนุสาวรีย์ให้คุณนวมทอง ไพรวัลย์ หรือตั้งมูลนิธิในชื่อนี้เพื่อต่อต้านการรัฐประหาร ผมก็เห็นว่าควรได้รับการสนับสนุนเต็มที่
    ๓. การล้มล้างผลพวงของรัฐประหาร?
    การที่คณะนิติราษฎร์ออกความเห็นเกี่ยวกับรัฐประหารก็เป็นสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นที่ควรได้รับการเคารพ ไม่ว่าใครจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็ตาม แต่นั่นก็เป็นเพียงการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการรัฐประหารหลังจากผ่านมา ๕ ปี มิใช่เป็นการต้านรัฐประหาร และไม่ใช่ความชอบธรรมที่จะยกขึ้นอ้างได้ว่า ใครไม่เห็นด้วยกับคณะนิติราษฎร์จะเป็นผู้เห็นชอบกับการรัฐประหารหรือปกป้องสถาบันรัฐประหารไปเสียหมดอย่างที่อาจารย์เกษียรยกขึ้นกล่าวอ้าง
    ในทำนองกลับกัน การออกความเห็นให้ตรากฎหมายเพิกถอนการรัฐประหารและผลพวงของการรัฐประหารก็ย่อมถูกวิจารณ์ได้ว่า ไม่ได้มีผลเป็นการต่อต้านรัฐประหารแต่อาจเกิดประโยชน์แก่ผู้อื่นในทางมิชอบ เพราะการรัฐประหารไม่อาจห้ามได้ด้วยกฎหมาย การรัฐประหารเป็นการแย่งอำนาจตามข้อเท็จจริงทางการเมือง ขนาดเขียนไว้ในกฎหมายและในรัฐธรรมนูญไม่ให้ใครทำรัฐประหาร และรับรองสิทธิต่อต้านรัฐประหารแล้ว ครั้นถึงเวลาที่รัฐถูกบ่อนทำลายจนเสื่อมอำนาจหรือเงื่อนไขการรัฐประหารสุกงอมก็ย่อมเกิดการรัฐประหารอยู่นั่นเอง
    ทางเดียวที่จะระงับการรัฐประหารไว้ได้ก็คือ ประชาชนหรือผู้ต่อต้านรัฐประหารต้องจัดตั้งกันให้มีอำนาจทางข้อเท็จจริงทางการเมืองถึงขนาดกุมอำนาจรัฐและความชอบธรรมตามข้อเท็จจริงไว้ให้ได้โดยตลอดเท่านั้น การอ้างความชอบธรรมทางกฎหมายเป็นเกราะป้องกันรัฐประหารโดยปราศจากการเสริมสร้างความชอบธรรมทางข้อเท็จจริงที่เข้มแข็ง หรือการปล่อยให้ความชอบธรรมตามข้อเท็จจริงถูกบ่อนทำลายลงด้วยการยอมรับการโกงการเลือกตั้ง ยอมรับการใช้อำนาจตามอำเภอใจโดยไร้ขอบเขต ไม่ต่อต้านการฉ้อราษฎร์บังหลวงที่ดำเนินไปอย่างโจ่งแจ้ง ต่อให้มีการประกาศต่อต้านรัฐประหารซ้ำ ๆ อีกกี่ครั้ง หรือตราไว้ในรัฐธรรมนูญกี่มาตราก็ย่อมไม่อาจต้านการรัฐประหารได้เลย
    ในข้อนี้ไม่ว่าอาจารย์เกษียร อาจารย์วรเจตน์ หรืออาจารย์ทั้งหลายที่เคยร่วมกันต่อสู้เพื่อรักษาความถูกต้องในบ้านเมืองให้ดำรงอยู่ได้ตามความเป็นจริง ล้วนแต่เห็นพ้องต้องกัน
    หากจะกล่าวในแง่การล้มล้างผลพวงของการรัฐประหาร ผมก็เห็นว่าการประกาศให้การกระทำของคณะรัฐประหารเสียเปล่า และถือว่าไม่เคยเกิดขึ้นและไม่เคยมีผลทางกฎหมายใด ๆ เลยแบบเป็นการทั่วไปนั้น ฟังเผิน ๆ แม้จะดูดี
    แต่ถ้าคิดลงไปในรายละเอียดแล้วก็ยากจะเห็นด้วย เพราะจะเกิดข้อยุ่งยากทางกฎหมายและทางปฏิบัติตามมายืดยาว กลายเป็นปัญหาพอกพูน ทบรวมเข้าไปกับปัญหาที่มีอยู่แล้วจากการรัฐประหารการล้มล้างผลพวงในเรื่องหนึ่งก็จะกลับกลายเป็นปัญหาให้ต้องสะสางยืดยาวตามมาอีกจนยากจะคาดเห็นล่วงหน้าได้หมด
    ในเยอรมันเคยมีการถกเถียงเรื่องนี้กันแต่เถียงกันตั้งแต่ต้นศตวรรษที่แล้ว ซึ่งนำไปสู่ข้อสรุปที่ชัดเจนว่าอำนาจที่ได้มาโดยการรัฐประหารนั้น แม้จะเป็นการได้อำนาจปกครองมาโดยมิชอบแต่ก็ไม่อาจเป็นเหตุปฏิเสธสถานะความเป็นรัฐของอำนาจการปกครองที่ตี้งขึ้นใหม่ได้แม้รัฐที่ตั้งขึ้นใหม่นี้ต่อมาจะถูกล้มล้างไปโดยอำนาจที่ใหม่กว่าในภายหลังก็ไม่อาจปฏิเสธว่าการเข้ายึดอำนาจรัฐที่มีมาก่อนตกเป็นโมฆะหรือเสียเปล่าไปและรัฐที่ตั้งขึ้นภายหลังก็ยังคงต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของรัฐก่อนหน้านั้นที่ยังส่งผลกระทบต่อผู้คนต่อมาไม่ว่าการกระทำของรัฐนั้นจะชอบหรือไม่ชอบก็ตาม
    ความรับผิดชอบของรัฐต่อการกระทำของรัฐเดิมที่รัฐใหม่เข้าสืบอำนาจและสืบสิทธิต่อมานั้นมีความสำคัญทั้งในแง่กฎหมายระหว่างประเทศ และกฎหมายภายใน เช่น ถ้าสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมันที่เกิดขึ้นใหม่หลังสงครามโลกประกาศว่ารัฐฮิตเล่อร์เป็นรัฐเผด็จการ ตั้งขึ้นโดยขัดต่อรากฐานทางกฎหมายและความยุติธรรม ขัดต่อความต้องการอันแท้จริงของชนชาติเยอรมันการกระทำของฮิตเล่อร์ให้ตกเป็นโมฆะ และเสียเปล่าไปทั้งหมดนั้นก็จะเกิดปัญหาความรับผิดของรัฐที่เกิดขึ้นในช่วงการปกครองของฮิตเล่อร์ทันทีว่าจะตกติดมายังสหพันธสาธารณรัฐเยอรมันที่ตั้งขึ้นใหม่หรือไม่อย่างไร?
    โชคดีที่เยอรมันตะวันตกหรือสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมันตกลงใจยอมรับผลทางกฎหมายของการกระทำของฮิตเล่อร์เป็นเหตุให้ต้องชดใช้ความเสียหายแก่ชนชาวยิวและผู้ตกเป็นเหยี่อเผด็จการมาจนทุกวันนี้ ความข้อนี้แตกต่างจากเยอรมันตะวันออกหรือสาธารณรัฐประชาธิปไตยเยอรมันซึ่งปัดความรับผิดชอบและความต่อเนื่องกับรัฐเผด็จการของฮิตเล่อร์ทุกประการ และยืนยันว่าตนเป็นรัฐที่ต่อต้านฮิตเล่อร์และไม่ต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของฮิตเล่อร์
    หากฝ่ายเยอรมันตะวันตกหรือที่เรียกว่าฝ่ายสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมันปฏิเสธความสืบเนื่องและความรับผิดชอบทางกฎหมาย โดยอ้างว่าการกระทำของฮิตเล่อร์ไม่มีผลมาแต่ต้นปัญหาที่จะเกิดขึ้นในแง่ความผูกพันและสิทธิและหน้าที่ที่เกิดขึ้นและเป็นผลจากการกระทำของฮิตเล่อร์ตามกฎหมายระหว่างประเทศซึ่งเป็นปัญหาพวงที่หนึ่งแล้วยังมีปัญหาในแง่ความรับผิดชอบต่อการกระทำต่าง ๆ ตามกฎหมายภายในทั้งในทางที่เป็นคุณและเป็นโทษแก่ประชาชนที่อยู่ใต้อำนาจรัฐอีกพวงหนึ่ง
    กล่าวคือถ้าจะเยียวยาความเสียหายแก่พวกที่ตกเป็นเหยื่อแล้วสำหรับผู้ที่ได้ประโยชน์จากการกระทำของรัฐบาลฮิตเล่อร์จะต้องกลับสู่ฐานะเดิมอย่างไร?จะยึดทรัพย์สิน หรือเรียกให้พวกที่ได้รับประโยชน์จากรัฐบาลฮิตเล่อร์คืนประโยชน์ยศถาบรรดาศักดิ์ หรือทรัพย์สินให้แก่เหยื่อ หรือแก่รัฐที่เกิดใหม่ด้วยหรือไม่ อย่างไร? ภายใต้กฎเกณฑ์หรือเงื่อนไขอะไร?
    นอกจากนั้นยังมีปัญหาพวงที่สามคือการจัดความสัมพันธ์ภายในกลไกของรัฐเอง ไม่ว่าจะเป็นการโยกย้ายแต่งตั้งบุคคลเข้าสู่ตำแหน่งรวมไปถึงการจัดตั้งองค์กร และการจ่ายเงินเดือนรวมไปถึงการใช้อำนาจของบุคคลเหล่านั้นในทางให้คุณหรือให้โทษแก่บุคคลผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกันเป็นลูกโซ่ยืดยาวซึ่งเป็นผลพวงจากรัฐที่ผู้มาทีหลังอ้างว่า เป็นโมฆะ ไม่เคยเกิดขึ้น และไม่เคยมีผลเลยแล้วใครจะขจัดปัญหาอันเป็นผลพวงที่ปฏิเสธไม่ได้เหล่านี้?
    ปัญหาเหล่านี้ หากนำมาเทียบกับปัญหาอันจะเกิดจากการลบล้างผลพวงการรัฐประหารแบบเป็นการทั่วไปหรือเหวี่ยงแหไปทั้งหมดตามข้อเสนอของนิติราษฎร์ เราก็จะต้องเผชิญกับข้อยุ่งยากจากปัญหาหลายพวงที่จะตามมาข้างต้นและที่ยังคิดไปไม่ถึงอีกมาก ปัญหายุ่งยาก ซับซ้อนเช่นนี้ ต้องวิเคราะห์ต้องชั่งน้ำหนักประโยชน์ได้เสียกันอย่างละเอียด และเป็นการยากมากที่จะชำระสะสางปัญหาความเสียเปล่าและการกลับคืนสู่สถานะเดิมของผู้เกี่ยวข้องจำนวนมากนี้ได้
    ดังนั้นก่อนที่จะทำเช่นนี้ เราต้องมาพิเคราะห์ร่วมกันให้ถ่องแท้เสียก่อนว่าควรจะทำหรือไม่เพียงใด? ในแง่นี้ข้อถกเถียงที่เกิดขึ้นย่อมเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม
  • ครบรอบ 7 ปี รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 มาไล่เรียงลำดับเหตุการณ์รัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 ที่อาจจะเรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งชนวนความขัดแย้งสำคัญของการเมืองไทยที่ส่ง ผลกระทบมาจวบจนปัจจุบัน 

              การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ในช่วงเดือนกลางปี 2549 เพื่อขับไล่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ณ ขณะนั้นให้ลงจากตำแหน่ง กลายเป็นหนึ่งในเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมืองครั้งใหญ่ของหน้าประวัติ ศาสตร์ไทย เพราะในครั้งนั้นมีกลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ออกมาชุมนุมกลางเมืองหลวงของประเทศไทยกันเป็นจำนวนมาก และไม่มีใครสามารถคาดการณ์ได้ว่าเหตุการณ์ครั้งนั้นจะจบลงเช่นไร เมื่อกลุ่มพันธมิตรฯ ประกาศนัดชุมนุมใหญ่ที่ลานพระบรมรูปทรงม้าในวันที่ 20 กันยายน 2556